อาหารและการกินอาหารที่ทำให้เกิดโรคในคัมภีร์แพทย์แผนไทย



โดย  ยส  พฤกษเวช

อาหารและการกินอาหารที่ทำให้เกิดโรคในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทย

            ร่างกายของมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยธาตุทั้ง  4  เหมือนกันคือ  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  แต่มนุษย์ทุกคนมีสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน   ในทัศนะของแพทย์แผนไทยเห็นว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากธาตุกำเนิด  อาหารที่บริโภค  ภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ  พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดสภาวะสภาพของบุคคล  โดยเฉพาะเรื่องอาหาร    ในทัศนะของแพทย์แผนไทยยังเห็นอีกว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นแหล่งก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ   หากธาตุทั้ง  4  อยู่ในสภาวะสมดุลร่างกายก็จะเป็นปกติและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  เหตุที่ทำให้ร่างกายสมดุลหรือเสียสมดุลที่สำคัญก็คือ  อาหาร
         

            ครูแพทย์แผนไทยแต่โบราณตระหนักรู้ถึงคุณและโทษของอาหารที่ทำให้เกิดโรคได้เป็นอย่างดี  และการรักษาโรค ในบางครั้งต้องมีการควบคุมเรื่องอาหาร  โดยเฉพาะอาหารที่แสลงต่อโรค  หรืออาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ  และได้มีการจดบันทึกไว้เป็นความรู้ในพระคัมภีร์แพทย์  เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยรุ่นต่อมาได้ใช้เป็นหลักในการพิจารณาโรค  พิจารณาไข้ต่อไป

      พระคัมภีร์ที่กล่าวถึงอาหารให้โทษตามพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยหลัก ๆ ดังนี้

                         1.  พระคัมภีร์โรคนิทาน

                         2.  พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์

                         3.  พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ

                         4.  พระคัมภีร์ชวดาร

                         5.  พระคัมภีร์อติสาระวรรค

                         6.  คัมภีร์นวดไทย

      โดยจะขออธิบายแต่ละคัมภีร์ดังนี้

พระคัมภีร์โรคนิทาน   พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์

               พระคัมภีร์โรคนิทานและพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์   แต่งโดยพระอาจารย์ชีวกโกมารภัจแพทย์   โดยแต่งต่อหน้าพระฤาษีสิทธิดาบส   เนื้อหาของคัมภีร์ทั้งสองมีลักษณะคล้ายคลึงกัน   กล่าวคือ พระคัมภีร์โรคนิทานเป็นชื่อของพระคัมภีร์ที่ว่า ด้วยเหตุและสมุฏฐานของโรค  “ โรคนิทาน ” แปลว่า   เหตุที่เกิดโรค  พระคัมภีร์โรคนิทานนี้ปรากฏชื่ออยู่ใน  “ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ” ซึ่งเป็นตำราที่รวบรวมขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ( พ.ศ.2199-2231 ) โดยปรากฏอยู่คู่กับ  “ พระคัมภีร์มหาโชตรัต  ”   ดังนี้




               “ ถ้าไข้ในคิมหันต์   โลหิตมีกำลัง  วสันต์วาโยมีกำลัง   เหมันต์เสมหะมีกำลัง   กล่าวไข้ดังนี้พอประมาณ  วิตถารแจ้งอยู่ในฤดู  6 พระคัมภีร์มหาโชตรัตและโรคนิทานนั้นแล้ว ”

               พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์    เป็นตำราที่ว่าด้วยการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความพิการของธาตุทั้ง  4  คือ  ดิน  น้ำ ลม และไฟ   เนื้อหาในเรื่องต่อเนื่องกับพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์   โดยอ้างถึงพระคัมภีร์โรคนิทาน   คัมภีร์พระปรมัตถธรรมและคัมภีร์มรณญาณสูตร

   
              เนื้อหาที่ปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์     กล่าวถึงการจำแนกหรือแบ่งธาตุทั้ง  4  และว่าด้วยการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความพิการของธาตุทั้ง  4  ตามฤดูกาลในรอบ  12  เดือน  โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์ที่เกิดมาล้วนประกอบด้วยธาตุทั้ง  4  และร่างกายจะปรกตินั้น   ธาตุทั้ง  4  จะต้องสมดุลกัน   โดยแบ่งเป็น  ธาตุดิน  20  ธาตุน้ำ  12  ธาตุลม  6  ธาตุไฟ  4

              ธาตุดินหรือปถวีธาตุ   คือ  องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นของแข็ง  มีความคงรูป
 ได้แก่  อวัยวะต่าง ๆ  และอาหารที่กินเข้าไป  มีดังนี้   เล็บ  ฟัน  หนัง  ผม  ขน  เนื้อ  เส้นเอ็น   กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม  หัวใจ  ตับ  ผังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า   และเยื่อในสมอง  รวมเป็น  20  ประการ




            ธาตุน้ำ  หรือ  อาโปธาตุ  คือองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต   มีลักษณะเป็นน้ำ  หรือของเหลว  มีคุณสมบัติไหลไปมา   ซึมซับทั่วร่างกาย  อาศัยธาตุดินเพื่อการคงอยู่   อาศัยธาตุลมเพื่อการเลื่อนไหล   ได้แก่  น้ำดี  เสลด  น้ำหนอง  เลือด  เหงื่อ  มันเหลว  มันข้น  น้ำตา  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  และน้ำมูตร  รวมเป็น  12  ประการ

            ธาตุลม  หรือ  วาโยธาตุ  คือ  องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต  มีลักษณะเคลื่อนไหวได้มีคุณสมบัติคือ  ความเบา  เป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว  เดิน  นั่งนอน คู้ เหยียดได้   ธาตุลมอาศัยธาตุดินและธาตุน้ำเป็นเครื่องนำพาพลัง   ขณะเดียวกันธาตุลมก็พยุงธาตุดินและทำให้ธาตุน้ำเคลื่อนไหวไปมาได้   ธาตุลมที่สำคัญมี  6  ประการ  จัดเป็นธาตุลมภายใน  ได้แก่  ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน    ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องต่ำ   ลมพัดอยู่ในท้องนอกลำไส้  ลมพัดในกระเพาะลำไส้   ลมพัดทั่วร่างกายและลมหายใจเข้าออก

            ธาตุไฟ  หรือเตโชธาตุ  คือ  องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต   มีลักษณะเป็นความร้อน  ไฟทำให้ลมและน้ำในร่างกายเคลื่อนที่ด้วยพลังแห่งความร้อนอันพอเหมาะ   ไฟภายในมี  4  ประการ  ได้แก่  ไฟทำ
ให้ร่างกายอบอุ่น   ไฟทำให้ร้อนระส่ำระสาย   ไฟทำให้ร่างกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรมและไฟย่อยอาหาร

   
             พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์     ได้ให้ความสำคัญกับธาตุทั้ง  4  และอิทธิพลของฤดูกาล  โดยเชื่อว่าธาตุทั้ง  4  จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลกับร่างกาย  จึงจะไม่เจ็บป่วย  โดยธาตุดินอาศัยน้ำทำให้ชุ่มและเต่งตึง    อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว    อาศัยไฟให้พลังอุ่นไว้ไม่ให้เน่า  น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุมซับไว้  มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่คงอยู่   อาศัยลมทำน้ำไหลซึมซับทั่วร่างกาย  
     
               ลมต้องอาศัยน้ำและดินเป็นที่อาศัย   นำพาพลังไปในที่ต่าง ๆ  ดินปะทะลมทำให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ในขณะที่ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชนเผาผลาญมากขึ้น   จะเห็นได้ว่าธาตุทั้ง 4  ต่างอาศัยซึ่งกันและกันจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้   และหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนก็จะเสียความสมดุลทันที

               จากเนื้อหาของพระคัมภีร์ทั้ง  2  แสดงให้เห็นถึงความคิดพื้นฐานของแพทย์แผนไทยที่ใช้พิจารณาองค์ประกอบของร่างกาย   แบ่งเป็นธาตุหลัก  4  ประการ   คือ   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  และในธาตุหลักยังแบ่งย่อยออกไปอีก คือ  ธาตุดิน  20   ธาตุน้ำ  12   ธาตุลม  6   ธาตุไฟ  4  และหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อธาตุอื่น ๆ ด้วย  ทำให้เกิดการแปรปรวนกระทบกันมา  ส่งผลให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยได้

               อาหารใหม่  อาหารเก่า  จัดอยู่ในธาตุดิน  20  ประการ   หากเกิดการแปรปรวนหรือพิการขึ้นมาก็ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของร่างกายได้   โดยพระคัมภีร์ทั้ง 2  ได้กล่าวถึง   อาหารใหม่  อาหารเก่า  เมื่อพิการไว้ดังนี้


   
พระคัมภีร์โรคนิทาน

          อาหารใหม่    “เมื่อพิการแตกไซร้   ถ้าบริโภคอาหารเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใด    ก็ทำให้ร้อนท้องนัก   บางทีให้สะอึก   บางทีให้ขัดในอก   แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ให้ผะอืดให้ผะอม   คนสมมติว่า  ไฟธาตุหย่อน  จะเช่นอย่างสมมุติว่านั้นหาไม่  อาการอย่างนี้ย่อมเป็นโทษเพราะเสพอาหารที่ไม่เคยบริโภคนั้น  ประหนึ่งคือ  อาหารดิบประการ 1   ลมกุจฉิสยาวาตาพัดไม่ตลอดก็ให้เป็นต่าง ๆ  บางทีให้ลง   บางทีให้เป็นพรรดึก  แดกขึ้นแดกลงกินอาหารไม่ได้ ”

         อาหารเก่า     “ เมื่อพิการแตก  คือ  ทรางขโมยกินลำไส้  ถ้าพ้นกำหนดทรางแล้ว คือ  ริศดวงคูถ ”
   
พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์

          อาหารใหม่     “ ถ้าพิการนั้น  คือ  กินเข้าๆไป  อิ่มแล้วเมื่อใดมักให้ร้อนท้องนัก  บางทีให้ลงดุจกินยารุ   บางทีให้สะอึก  ขัดหัวอกแล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอม  สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน   โรคทั้งนี้ย่อมให้โทษเพราะอาหารมิควรกินนั้นอย่าง  1  กินอาหารดิบอย่าง  1  ลมในท้องพัดไม่ตลอด  มักแปรไปเป็นต่าง ๆ  บางทีให้ลงท้อง   บางทีให้ผูกเป็นพรรดึก   ให้แดกขึ้นแดกลง   กินอาหารมิได้  ให้ลงแดง  ให้ราก  มักเป็นป่วง 7 จำพวก  ”

          อาหารเก่า     “ ถ้าพิการ คือ  ทรางขโมยกินลำไส้  ถ้าพ้นกำหนดทรางแล้ว  คือ เป็นริศสิดวงนั้นเองแล  ”

จากข้อความตามพระคัมภีร์ขออธิบายขยายความ  ดังนี้


       
อาหารใหม่
          อาหารใหม่เป็นอาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านระบบการย่อยจากปากเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น  ( กระเพาะอาหาร )   ไปจนถึงลำไส้น้อยส่วนปลาย   อาการกำเริบหย่อนหรือพิการของอาหารใหม่  ท่านจำเพาะเฉพาะอาการที่เกิดจากอาหารเป็นต้นเหตุ   คือ  อาหารที่ไม่ควรกิน  เช่น    อาหารที่ไม่ถูกกับธาตุหรือโรค   อาหารบูดเน่าเสีย   อาหารแข็งย่อยยาก   อาหารมันมาก  อาหารที่ไม่เคยกิน  อาหารสกปรกมีเชื้อโรค   อาหารที่มีพิษหรือสารพิษ  เป็นต้น  อาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ  ทำให้ไฟธาตุนั้นหย่อนหรือพิการไป   ถ้ามีพยาธิด้วยก็จะเป็นเหตุให้ฟักหรือกระจายตัวในช่วงอาหารเก่า   ทำให้กระทบไปถึงพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่น ๆ เช่น  ลำไส้น้อย  ลำไส้ใหญ่  ไฟธาตุที่ย่อยอาหารพลอยกำเริบ  หย่อน  หรือพิการไปด้วย  ดังนั้น  อาการเจ็บป่วยจึงมีบางอาการคล้ายกับอาการของลำไส้น้อย  ลำไส้ใหญ่และไฟธาตุที่ช่วยย่อยอาหารกำเริบ หย่อน หรือพิการ
   
     ถ้าพิจารณาจากอาการที่ปรากฏในพระคัมภีร์  จะเห็นว่า   “ กินข้าวเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใดมักให้ร้อนท้องนัก  ” ซึ่งเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร   ดังนั้น  การที่อาหารใหม่จะกำเริบ หย่อนหรือพิการได้นั้น   ส่วนหนึ่งก็คือ  สุขภาพของร่างกายผู้นั้นที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์อาจมีอาการของโรคกระเพาะอาหาร
หรือลำไส้ในช่วงแรกๆ อยู่ก่อนแล้วก็ได้



อาหารใหม่หย่อนหรือพิการ 

          เป็นอาหารหรือยาที่มีสรรพคุณไปขัดขวางหรือยับยั้งการทำหน้าที่ของพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่น  เช่น

  -  อาหารหรือยาที่มีรสเย็น  จะไปลดความสามารถในการย่อยอาหารของน้ำย่อย

  -  อาหารรสฝาด  แสลงกับคนที่ไฟธาตุอ่อนหรือเป็นพรรดึก   กระตุ้นให้ลำไส้หดรัดตัว  ทำให้ท้องผูก  ถ่ายยาก

  -  อาหารหรือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือกระตุ้นประสาท    การทำงานของกระเพาะอาหารหรือลำไส้

  -  กินอาหารมากเกินไปจนเกินความสามารถในการย่อยของน้ำย่อยและกระเพาะอาหารลำไส้

  -  อาหารที่ย่อยยาก    เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด   อาหารที่ไม่เคยกิน   ทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่หมด

  -  อาหารมันมาก    เกินกว่าการช่วยย่อยของน้ำดี   ทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่หมด

      อาหารถ้าถูกย่อยด้วยน้ำย่อยไม่หมด  จะเกิดการหมักหมม  ถูกย่อยด้วยแบคทีเรีย  เน่าเสีย  เกิดลมใน
กระเพาะอาหารมาก  เกิดแก๊สพิษ  มักให้ร้อนท้องนัก  บางทีลงดุจกินยารุ  บางทีให้สะอึก  ขัดในหัวอก  ( หายใจขัด ) แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอม   สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน  ( ลักษณะคล้ายโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล )

   
อาหารใหม่กำเริบหรือพิการ

          เป็นอาหารหรือยาที่ทำให้การทำหน้าที่ของพิกัดธาตุสมุฏฐานอื่นทำงานเกินกว่าปกติหรือกำเริบ  เช่น

 อาหารที่ไม่ถูกกับธาตุหรือโรค  เช่น

  -  อาหารรสร้อน  แสลงกับคนที่มีธาตุร้อน  หรือมีไข้  เป็นต้น

  -  อาหารบูดเน่าเสีย  ของหมักดอง  ทำให้ท้องเสีย  ท้องเดิน

  -  อาหารที่มีพิษหรือสารพิษ  ทำให้ลงท้อง  อาเจียน  และอาการอื่นๆ ตามพิษของสารที่ได้รับ

  -  อาหารสกปรก  อาหารดิบ  หรืออาหารสุกๆดิบ ๆ  มีพยาธิ  ทำให้ท้องเสีย  ท้องเดิน  หรือป่วยตามเชื้อโรคที่ได้รับ เช่น  เป็นลมป่วง   ( ท้องเดินอย่างรุนแรง  รวมไปถึงอหิวาตกโรค   ดูในเรื่องป่วง )  หรือเมื่อตกไปเป็นอาหารเก่า  เกิดพยาธิต่าง ๆ เป็นต้น




อาหารเก่า

        อาหารเก่าเป็นกากอาหารส่วนที่ได้ย่อยและดูดซึมอาหารไปแล้ว  อยู่บริเวณถัดจากลำไส้น้อยลงไปจนถึงซ่วงทวาร  เพื่อรอการขับถ่าย   ในช่วงนี้ไม่มีน้ำย่อย   การย่อยเกิดจากแบคทีเรีย  ซึ่งทำให้เกิดลมและสารที่มีพิษมาก    ถ้าอาหารเก่าถูกเก็บไว้นาน ๆ ร่างกายจะดูดเอาน้ำ  ลม  และสารพิษเข้าสู่ร่างกาย  อุจจาระแข็งตัว  ถ่ายยาก  ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร

อาหารเก่ากำเริบหรือพิการ

        โบราณจารย์ท่านจัดเอาอาหารที่มีพยาธิเป็นอาหารพิการ  พยาธิที่ปะปนมากับอาหารมีอยู่มากมายหลายชนิด  ส่วนหนึ่งจะฟักออกเป็นตัวในช่วงอาหารเก่า   ทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น  ให้มีอุจจาระเป็นฟองเน่าเหม็น  พุงโร  ก้นปอด  ผอมเหลือง

   
อาหารเก่าหย่อนหรือพิการ

         อาหารเก่าที่ถูกขับถ่ายช้าหรือตกค้างอยู่นาน  จะถูกดูดน้ำและสารบางชนิดกลับเข้าสู่กระแสเลือด   จนทำให้แข็งเป็นก้อน  ถ่ายยาก  เมื่อเวลาถ่ายจะต้องเบ่ง  ทำให้หลอดเลือดในซ่วงทวารโป่งพอง  เมื่ออุจจาระแข็งถูครูดออกมา   อาจเกิดแผล  มีเลือดออกและติดเชื้อ  เกิดริดสีดวงทวาร ถ้ามีการติดเชื้อจะทำให้เกิดฝีหนองในซ่วงทวาร    เป็นฝีหัวเดียวหรือหลายหัว  ดากออก  เป็นต้น
   
      -  ถ้าอาหารเก่าตกค้างนาน  ลมและสารพิษที่เกิดจากการย่อยของแบคทีเรียจะถูกดูดเข้าสู่ร่างกาย  กระทบถึงการทำงานของสมอง  ทำให้มีอาการทางประสาท  สมองมึนงง

      -  ถ้าสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากจะทำให้เลือดสกปรก  การทำงานของร่างอ่อนแอลง  
         
      -  ถ้าสารพิษและสิ่งสกปรกถูกส่งออกไปตามผิวหนัง   จะทำให้เกิดฝ้า   ผิวหมองคล้ำ  ไม่สดใส

      -  ถ้าอาหารเก่าตกค้างเป็นคราบอยู่ตามผนังลำไส้  นานเข้าจะหนาและแข็ง  เวลาลำไส้หดตัวทำให้ถูครูดกับคราบอาหาร  เกิดริดสีดวงลำไส้ได้  เกิดแผล  ติดเชื้อ  อักเสบเป็นฝีหนอง   ส่วนมากมักเกิดในผู้สูงอายุ  ที่มีอาการคูถเสมหะ    ลมในลำไส้   ลมในท้อง หย่อนและพิการด้วย   จัดอยู่ในอชินโรค  อชินธาตุ   ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่ถูกกับโรคหรือธาตุ   ทำให้ธาตุไม่ย่อย   อาหารที่มีเส้นใยน้อยก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ท้องผูก   ( ดูเพิ่มเติม เรื่อง  อุจจาระธาตุพิการ  ในพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ )




การดูแลรักษา

1.  งดอาหารที่แสลงกับโรคหรือธาตุ  อาหารที่ไม่เคยกิน  อาหารเน่าเสีย  อาหารเก็บไว้นาน  อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารแข็ง  ย่อยยาก  เป็นต้น

2.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  และพักผ่อนให้เพียงพอ

3.  รับประทานอาหารที่มีเส้นใย  อาหารที่ช่วยการขับถ่ายให้มาก ๆ


การใช้ยาสมุนไพรรักษา

1.  ถ้ากินอิ่มแล้วปวดท้อง   ให้ท้องร้อน  ให้จุกเสียด  ผะอืดผะอม  ให้ยาแก้โรคกระเพาะอาหาร  ลำไส้

2.  ถ้าท้องเสีย  ท้องเดิน  ลงท้อง  เป็นลมป่วง  ให้ยาแก้ท้องเสีย  แก้ลมป่วง

3.  ถ้ากินอาหารรสมันมาก  หรือนมแล้วถ่ายอย่างแรง   ให้ยาแก้ท้องเสีย  ยาบำรุงธาตุ  บำรุงน้ำดี

4.  ถ้าเป็นพรรดึก  ให้ยาระบาย  ยาถ่าย

5. ถ้าลงท้อง  ถ่ายและอาเจียน  เนื่องจากกินของผิดสำแดง  อาหารเป็นพิษ  สารพิษ  ให้ยาสมานลำไส้  ยาแก้พิษ

6.  ถ้าท้องผูก  เป็นพรรดึก  ให้ยาระบาย  ยาถ่าย

7.  ถ้าเป็นริดสีดวงทวาร  ให้ยาแก้ริดสีดวงทวาร

8.  ถ้ามีอาการสมองมึนงง  ให้ยาถ่ายขับพิษและยาหอมบำรุงโลหิต หัวใจ และสมอง

9.  ถ้าผิวพรรณหม่นหมอง  มีฝ้าเลือด  ให้ยาฟอกและบำรุงโลหิต




พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ

               พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ   แต่งโดยพระอาจารย์ชีวกโกมารภัจแพทย์     เป็นตำราที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับอุจจาระโดยเฉพาะคือ  กล่าวถึงเหตุที่เกิดโรค   ลักษณะอุจจาระธาตุ  โรคอุจจาระธาตุและยารักษาโรคอุจจาระธาตุ

               พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ  ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกใน  “พระคัมภีร์เวชศาสตร์สงเคราะห์  ”  เมื่อปีพ.ศ.2413  ซึ่งเป็นฉบับตัวเขียน  ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ชำระขึ้นและได้จัดพิมพ์เผยแพร่รวมอยู่ใน  “ พระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ”   เมื่อปีพ.ศ.2432  และต่อมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง

               สำหรับตำราที่พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ  นำมาอ้างถึงนั้น  ได้แก่  “ คัมภีร์อติสารวรรค  คัมภีร์ตติยภิน
สันนิบาต   คัมภีร์มหาภูตรูป   คัมภีร์ธาตุวินิจฉัยและสมุฏฐานพิกัดและคัมภีร์จลนะสังคหะปกรณ์ ”
   

              จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับ  “ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ ”   สถาบันภาษาไทย  กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  ได้กล่าวถึงพระคัมภีร์นี้ว่า  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งในสมัยใด  และใครเป็นผู้แต่ง  นอกจากในเนื้อหาตอนต้น  ซึ่งกล่าวว่า

               ......อันว่าชีวกะโกมาระภัจ  แท้จริง  อันตกแต่งพระคัมภีร์  จะละนะสังคะหะปกรณ์  อันท่านสงเคราะห์ด้วยอุจจาระธาตุทั้ง  4 ประการ  ซึ่งวิปริตระคนด้วยพิษ.....

               ข้อความนี้น่าจะเป็นการเอ่ยถึงด้วยความเคารพบูชา  ในฐานะที่แพทย์แผนไทยยกย่องว่า  ชีวกโกมารภัจเป็นครูทางการแพทย์




               จากข้อความที่กล่าวมา  ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยแต่ก็ยังคงยกย่องให้พระอาจารย์ชีวกโกมารภัจแพทย์เป็นผู้แต่งพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ   เพราะตามความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า  พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ  น่าจะมีพื้นฐานหลักมาจากพระคัมภีร์จะละนะสังคหะปกรณ์   ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยอุจจาระธาตุทั้ง  4  ประการ   ซึ่งวิปริตระคนด้วยพิษ สอดคล้องกับพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ    หรืออาจจะกล่าวได้ว่า  พระคัมภีร์ธาตุบรรจบก็คือพระคัมภีร์จะละนะสังคหะปกรณ์   ก็น่าจะอนุโลมได้


               “ โรคอุจจาระธาตุลามก ”  เป็นโรคที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์  ธาตุทั้ง  4  แปรปรวนจนพิการไป  มีอาการไปต่าง ๆ นานา  15 ประการ  ส่งผลให้อุจจาระที่ขับถ่ายออกมา  มีรูปลักษณะ  สี กลิ่น ที่ผิดปกติ  และแพทย์พิจารณาดูลักษณะอุจจาระที่ผิดปกตินี้เป็นข้อมูลในการพิจารณาโรค  พิจารณาไข้  พิจารณายารักษาต่อไป



สาเหตุของโรคอุจจาระธาตุลามก

               1.  ผู้นั้นเป็นไข้ที่มีพิษจัดตกถึงสันนิบาต   แล้วเรื้อรังมา   ธาตุนั้นยังแปรปรวน  อุจจาระไม่เป็นปกติ  จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ

               2.  รับประทานอาหารที่แปลก   หรือที่เคยรับประทานนั้นมากเกินกำลังกว่าธาตุ  เป็นต้นว่า  เนื้อสัตว์ดิบ หรือเนื้อสัตว์ที่มีคาวมากหรือมัน ไขต่าง ๆ  แลของที่หมักดองบูดเน่า   ธาตุนั้นก็วิปริตแปรปรวนหาเสมอเป็นปรกติไม่  กระทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ  เรอเหม็นบูดเปรี้ยว  จุกเสียดแทง  อุจจาระก็วิปริตต่าง ๆ จึงกลายเป็นโรคอุจาระธาตุ

               3.  ธาตุสมุฏฐานมหาภูตรูป  4  ประชุมในกอง  สมุฏฐานโทษ  แล  3  แล3  ทำให้สมุฏฐานธาตุกำเริบ  ธาตุหย่อน  ธาตุพิการ  นั้นต่างๆ โดยพระอาทิตย์ดำเนินในทวาทศราษีเป็นกำหนด  ตามในพิกัดฤดูสมุฏฐาน  6 กระทบให้เป็นธาตุ  ( กระทบให้เป็นโรคอุจจาระธาตุ )



ลักษณะของโรคอุจจาระธาตุลามก

               1.  ทำให้อุจจาระไปทั้งกลางวัน  กลางคืน  บางวัน  2  ครั้ง  บางวัน  3  ครั้ง  บางวัน  4  ครั้ง  ไปจนถึง  8  ครั้ง ก็มี

               2.  อุจจาระมีสีดำ สีแดงก็มี สีขาว สีเขียวก็มี

               3.  อุจจาระเป็นเมือกมันเป็นเปลวเป็นไต  บางทีระคนด้วยโลหิต  มีสัณฐานดังมูลแมว  มูลไก่  มูลเต่า ก็มี

               4.  อุจจาระหยาบ  อุจจาระละเอียดก็มี
 

ลักษณะอาการที่แสดงออกของโรคอุจจาระธาตุลามก  15  ประการ
           
               1. ให้ปวดอุจาระ

               2. ให้เสียดตามโครง

               3.  ให้บริโภคอาหารไม่ได้

               4.  ให้อาเจียน

               5.  ให้นอนมิหลับ

               6.  ให้มึนมัวจับสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นพิษ

               7.  ให้ถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะมิสะดวก

               8.  ให้แน่นอกคับใจ

               9.  ให้เสียวไปทั่วร่างกาย

               10.ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก

               11.ให้กลุ้มจิตระส่ำระสาย

               12.ให้เจรจาพร่ำพรู

               13.ให้ร้อนกระหายน้ำ

               14.ให้ร่างกายซูบผอม  ผิวหนังสากแห้ง

               15.ให้เกิดละอองเป็นขุมขึ้นตามลิ้นตามปาก


            นอกจากนี้พระคัมภีร์ยังบอกถึงลักษณะอุจจาระธาตุ  ซึ่งจะให้วิปริตต่าง ๆ นั้น เหตุเพราะว่า “ มูลนั้นเสียด้วยโกฐาสยาวาต  ( ธาตุลมประเภทหนึ่งที่พัดในลำไส้และในกระเพาะ )  มิได้พัดชำระปะระเมหะและเมือกในลำไส้ให้ตก เป็นกรันติดคราบไส้อยู่ระคนด้วยอุจจาระ  ครั้นเดินสู่ลำซ่วงก็ลำลาบ  ( เปื่อยลามเป็นทางไป )  แตกออกเป็นโลหิต  บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นตามขอบทวารให้เจ็บ  แสบ  ขบ    บางทีขึ้นที่ต้นไส้ต่อลำกะรีสะมัด  ( ลำไส้ใหญ่ )  นั้นก็มี  ทำอาการดุจนิ่วแลไส้ด้วนไส้ลาม   แลสตรีดุจมีครรภ์ต่ำลงไปนั้น    ถ้าแพทย์มิรู้ถึง  มิได้แจ้งในอุจจาระธาตุ  วิธีอธิบายก็สมมติเรียกต่าง ๆ   บางทีก็ว่าดานเถา   บางทีก็ว่ามุตฆาต   บางทีก็ว่าเป็นนิ่วปะระเมหะ   บางทีก็ว่าเป็นกระษัยกล่อน   บางทีก็ว่าเป็นริดสีดวง   บางทีก็ว่าลามกอติสาร ”




             พระคัมภีร์ยังกล่าวถึงการดำเนินของโรคอุจจาระธาตุลามกไว้ด้วยว่า “ ระคนด้วยมหาสันนิบาตแลระคนไปในธาตุอภิญญาณคือ ธาตุนั้นเป็นชาติเอกโทษ จะละนะทุวันโทษ  ภินะตรีโทษแลอสุรินธทัญญาณธาตุ  คือ  ธาตุนั้นสำแดงให้รู้ดุจผีสิงตกเข้าในระหว่างอะชินธาตุ  คือ  ธาตุนั้นที่ไม่ย่อยไป   อันลักษณะอาการที่กล่าวมานี้  เรียกว่า  อุจจาระธาตุลามกระคนด้วยมหาสันนิบาต    โรคอย่างนี้รักษายากกว่าโรคทั้งปวง    เพราะเป็นโรคเรื้อรัง   ถ้าให้ยามิถอย  อุจจาระนั้นคงแดงอยู่นานเรื้อรัง  ก็จะแปรไปตกถึงอะสาทิยะอุจจาระคันธาระธาตุ  ( โรคที่ตกอยู่ถึงขั้นอะสาทิยะ  คือ  โรคที่รักษาไม่หาย )  บังเกิดเป็นปะระเมหะ  คือ  เมือกแลมันเปลวไต  ทุลาวะสา  นั้น  คือ  น้ำปัสสาวะพิการต่าง ๆ  เป็นอะสาทิยะลามกพิกัดอภินะธาตุ ”

        
           สรุปเนื้อหาที่กล่าวมาตามพระคัมภีร์ธาตุบรรจบอย่างสังเขป  จะเห็นว่า  สาเหตุของการเกิดโรคอุจจาระธาตุอย่างหนึ่งคือ  อาหาร   เกิดจากการกินผิด  คือ

1.  รับประทานอาหารที่แปลก อาหารที่แปลก  คือ   อาหารที่ไม่ได้รับประทานอยู่เป็นประจำ   ร่างกายไม่เคยชินกับอาหารดังกล่าว  ทำให้ธาตุทั้ง  4  แปรปรวนขึ้นได้  ตัวอย่างเช่น

1.1   อาหารจากต่างถิ่นที่อยู่    กล่าวคือ    มนุษย์เราควรจะกินอาหารที่มีอยู่หรือเพาะปลูกขึ้นในท้องถิ่นภูมิลำเนาของตนเอง  เช่น  คนทางภาคเหนือ  ก็ควรจะกินพืชผักผลไม้ที่มีอยู่หรือเพาะปลูกอยู่ทางเหนือ ไม่ควรกินอาหารข้ามถิ่นจากภูมิภาคหรือภูมิลำเนา   เพราะสภาพร่างกายของคนเราได้รับอิทธิพลจากภูมิอากาศ  ภูมิประเทศ  อาหารการกินของท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้น ๆ   ก่อเกิดเป็นธาตุทั้ง  4   คือ   ดิน   น้ำ   ลม   ไฟ    ซึ่งเป็นองค์ประกอบของร่างกาย    ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า  สภาพร่างกายของคนเราที่ประกอบไปด้วยธาตุดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ของคนต่างท้องถิ่น  ต่างภูมิภาค  หรือต่างประเทศ  จะมีสภาพร่างกายของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แตกต่างกันไป  ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงควรกินอาหารที่มีอยู่หรือเพาะปลูกขึ้นในท้องถิ่น   ภูมิภาค   หรือในประเทศของตนเป็นอาหารหลัก  ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพร่างกายและธาตุทั้ง  4  ของเรา   การกินอาหารที่แตกต่างไป    จึงอาจทำให้ธาตุทั้ง  4 ภายในของเราเกิดการแปรปรวนจนทำให้เกิดเจ็บป่วยได้

 1.2   การเปลี่ยนแปลงรสนิยมการกินอาหาร   เช่น   บางคนชอบกินอาหารรสจืด   แต่เกิดหันมากินอาหารรสจัด  ก็อาจจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน    ธาตุทั้ง  4  ก็อาจจะแปรปรวนเกิดเจ็บป่วยหรือท้องเสียได้  หรือกินอาหารจากสูตรตำรับพิสดารที่ไม่เคยทำกินมาก่อนก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ็บป่วยได้ เป็นต้น

1.3   อาหารที่ไม่ถูกกับธาตุหรือโรค   เช่น   อาหารรสร้อนแสลงกับคนที่มีธาตุร้อนหรือมีไข้



                       
2.  เคยกินอาหารที่เคยรับประทานนั้น  แต่มากเกินกว่ากำลังธาตุหรือมากเกินกว่าความสามารถในการย่อยอาหารของร่างกายของตนได้  เช่น   เนื้อสัตว์ดิบหรือเนื้อสัตว์ที่มีคาวมากและไขมันต่าง ๆ  ไขมันและโปรตีนในเนื้อสัตว์เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย   แต่เราควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม   โดยพิจารณาจากสภาพร่างกายและอายุเป็นสำคัญ  ไม่ใช่รับประทานเพื่อสนองความอยากของเราเป็นสำคัญ    นอกจากนี้เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารก็ต้องทำให้สุกเสียก่อน  ไม่ใช่กินเนื้ออย่างดิบ ๆ   เพราะจะทำให้เกิดโทษต่าง ๆ ตามมามากมาย  เช่น   ร่างกายไม่สามารถย่อยได้  หรือ  ในเนื้อสัตว์ดิบนั้นมีพยาธิที่ฝังอยู่ในเนื้อสัตว์นั้น    นอกจากนี้ตามธรรมชาติของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายจะหลั่งสารพิษออกมาแทรกอยู่ตามเนื้อของมันเอง   ดังนั้น   เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหารของมนุษย์   ควรทำให้สุกเสียก่อน  ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ   ส่วนเนื้อสัตว์ที่มีคาวมาก  เช่น   เนื้อสัตว์ป่าทุกชนิดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งมีกลิ่นคาวมากแสดงว่ามีพิษมาก   ถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม  แต่พิษในเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สามารถทำให้หมดไปได้   จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปแสวงหาอาหารจากสัตว์ป่ามารับประทาน   เพราะจะทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา

3.  รับประทานอาหารที่หมักดองบูดเน่า  อาหารที่มนุษย์ใช้กินควรเป็นอาหารที่สดใหม่   โดยผ่านกระบวนการปรุงอาหารให้น้อยที่สุด   เพื่อไม่ให้สูญเสียสารอาหารไปในระหว่างกระบวนการปรุงอาหาร   อาหารบูด เน่าเสีย  ของหมักดอง   ทางการแพทย์แผนไทยถือว่าเป็นอาหารพิการ   เพราะนอกจากจะสูญเสียคุณค่าทางอาหารแล้ว  กลับมีสารพิษเกิดขึ้นกับอาหาร   เมื่อบริโภคเข้าไปก็เปรียบเสมือนเรากินสารพิษ  ไม่ใช่อาหาร   และเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยได้   บางครั้งการเจ็บป่วยอาจจะไม่เกิดขึ้นโดยทันที   แต่จะเกิดการสะสมสารพิษไว้ในร่างกายระยะหนึ่งแล้ว   จึงจะแสดงอาการเจ็บป่วยขึ้นมา



       
           คนไทยสมัยโบราณกินอาหารโดยการปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกขึ้นเอง  สิ่งใดไม่มีจึงค่อยหาซื้อเพิ่มเติมจากตลาดสด   และการปรุงแต่ละครั้งมักจะปรุงแต่พอกินในแต่ละมื้อ  หรือ พอกินในแต่ละวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น  ไม่นิยมกินอาหารที่ปรุงทิ้งไว้หรือเหลือในแต่ละวันเก็บไว้กินในวันรุ่งขึ้น   เหตุนี้คนไทยสมัยโบราณจึงได้รับแต่อาหารที่ใหม่สดอยู่เสมอ

           ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน   วัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนไทยแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย  โดยมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารจากการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมอาหาร   กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า  สังคมไทยปัจจุบันบริโภคอาหารจากการผลิต  ไม่ใช่จากการปรุง
                 
     รูปแบบอาหารผลิตเพื่อการบริโภค  มีตั้งแต่อาหารข้าวแกงหรืออาหารถุงที่ซื้อกลับบ้าน     อาหารเสริมต่าง ๆ   ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูป   เช่น  อาหารกระป๋อง  อาหารฟาสต์ฟู้ด   เป็นต้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า  นับแต่สังคมไทยหันมาบริโภคอาหารในรูปแบบอาหารผลิต  ไม่ใช่จากการปรุง  สังคมไทยก็เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตามมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่พบมากขึ้น  เช่น  โรคหัวใจ   ความดันโลหิต  เบาหวาน  ซึ่งปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคดังกล่าวไม่ได้
   
         
          ในพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ   ท่านได้สรุปลักษณะกองโทษของโรคอุจจาระธาตุ อันบังเกิดอาการต่าง ๆ 15  ประการ   จัดเป็นหมวดเข้าสรุปได้  6  ประการ  ดังนี้


          1)   “ อันว่าอาการซึ่งกระทำมิได้วิปริตไปต่าง ๆ  ระคนด้วยลมอังคะมังคานุสารีวาตา ”  ( ลมสำหรับพัดทั่วร่างกาย ) หมายความว่า   โรคอุจจาระธาตุทำให้กลไกการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดวิปริตไปต่าง ๆ  เช่น  อาจจะหย่อนประสิทธิภาพลง   การย่อยอาหาร   การดูดซึมสารอาหาร   การขับถ่ายของเสียเสื่อมประสิทธิภาพลง   การขับของเสียโดยไตเสื่อมประสิทธิภาพลง  เป็นต้น   จากระบบหรือกลไกการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลงนี้ก็ระคนด้วยลมอังคะมังคานุสารีวาตา  ( การไหลเวียนของโลหิต  โบราณเรียกลม )   ลมอังคะมังคานุสารีวาตาที่พัดอยู่หรือไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกายของคนที่เป็นโรคอุจจาระธาตุนี้  มักจะเป็นลมที่มีพิษปนอยู่ด้วย  เพราะระบบการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพลง   ของเสียต่าง ๆ ที่ควรถูกขับถ่ายออก  กลับถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและไหลเวียนไปทั่วและได้ไประคนหรือไปกระทบกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย  ก็จะยิ่งไปซ้ำเติมให้อวัยวะนั้นอ่อนแอลงไปอีก เมื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอ่อนแอลง  ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมาและในความเห็นของข้าพเจ้า  สาเหตุนี้อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ  ความดันโลหิต ไขมันในหลอดเลือดสูง เบาหวาน โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน ฯลฯ  เป็นต้น


             
           2)   “ให้ปวดอุทร (ปวดท้อง )  ให้เสียดชายโครงแลท้องนั้น  โทษแห่งปัตฆาฏ , สัณฑฆาฏ  ,  รัตฆาฏ  กระทำมิได้เป็นปรกติ  ระคนกันเปนเถาวัลย์เกี่ยว ”  ในความเห็นของข้าพเจ้า  แนวเส้นปัตฆาฏ , สัณฑฆาฏ, รัตฆาฏ  เฉพาะที่กล่าวนี้เป็นแนวเส้นที่อยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกรานหริอบริเวณท้องน้อย   ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบอุจจาระ   ระบบปัสสาวะบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อยเกิดวิปริตแปรปรวน  จึงทำให้มีอาการปวดท้องและทำให้เสียดชายโครงและเสียดท้อง



           3)   “ ให้บริโภคอาหารมิได้แลอาเจียน   โทษแห่งปิงคลากระทำ ”   เส้นปิงคลาเป็น  1  ในเส้นประธาน  10 ในร่างกายของมนุษย์ตามคัมภีร์นวดแผนไทย  โดยจุดเริ่มต้นห่างจากสะดือข้างขวาประมาณ  1  นิ้วมือ  แล่นไปบริเวณหัวเหน่าผ่านต้นขาขวาด้านในไปยังหัวเข่า   แล้ววกกลับขึ้นมาที่ต้นขาด้านนอก ผ่านกึ่งกลางแก้มก้นตามกระดูกสันหลังข้างขวาถึงต้นคอไปบนศีรษะ  แล้ววกกลับผ่านหน้าผากมาจรดที่จมูกขวา   ในระบบการแพทย์ไทยได้อธิบายระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบประสาทไว้ในเรื่องของลมหรือธาตุลมและรูปของเส้นประธาน  10    เส้นปิงคลานี้ก็มีความสัมพันธ์กับระบบไหลเวียนเลือด   ระบบไหลเวียนประสาท  แต่อยู่ทางด้านขวามือคู่กับเส้นอิทา  ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ  ดังนั้นคนที่เป็นโรคอุจจาระธาตุมีผลทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต   ระบบประสาทเกิดวิปริตขึ้นได้  จึงทำให้มีอาการบริโภคอาหารมิได้และกระทำให้อาเจียน  เพราะเกิดลมในท้องตีขึ้น  เพราะโทษแห่งปิงคลากระทำ

   
  4)   “ ให้ร้อนกระหายน้ำกระวนกระวายแลเจรจาพร่ำพรู   โทษในสุมะนากระทำกำเริบขึ้นพัดดวงหะทัยให้ระส่ำระสายมิได้เป็นปรกติ ”   เส้นสุมะนาเป็น 1  ใน เส้นประธาน  10  ในร่างกายของมนุษย์ตามคัมภีร์นวดแผนไทย  โดยจุดเริ่มต้นเหนือสะดือประมาณ  2 นิ้วมือ  แล่นลึกไปตามกระดูกสันหลัง  ตรงขึ้นไปยังหัวใจผ่านลำคอไปจรดโคนลิ้น  เส้นสุมนามีความสัมพันธ์กับระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาทสมองและไขสันหลัง  เส้นสุมนาเป็นเส้นกลางลำตัวที่มีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ   การทำงานของสมอง   ประสาทไขสันหลัง   เส้นเลือดแดงใหญ่   กลุ่มประสาทต่าง ๆ กลางลำตัว  อาการเมื่อกำเริบมีผล  (๑) ทางจิต  คลุ้มคลั่ง  ละเมอเพ้อพก  นอนไม่หลับ (๒) การทำงานของลิ้น  เช่น ลิ้นไม่รู้รส  ขมปาก  ปากหวาน  ลิ้นกระด้างคางแข็ง  ลิ้นหดแยกมิออก



                   
            ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์   ได้กล่าวถึงเส้นเอ็นพิการไว้ว่า   “ เอ็นพิการ  ให้เส้นประธาน  10 เส้น แลเส้นบริวาร  2700  เส้น ๆ ให้หวาดหวั่นไหวไปสิ้นทั้งนั้น  ที่กล้าก็กล้า  ที่แข็งก็แข็ง  ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน  ที่ขอดก็ขอดเข้าเปนก้อนเปนเถาไป  ที่จะเป็นโทษหนักนั้นแต่เส้นอันชื่อว่า  สุมนาแลอำมพฤกษ์  เส้นสุมนานั้นผูกดวงใจ   มีแต่จะให้สวิงสวายทุรนทุราย  หิวโหยหาแรงมิได้  อันว่าเส้นอำพฤกษ์นั้นมีแต่จะให้กระสับกระส่าย  ให้ร้อนให้เย็น  ให้เมื่อยให้เสียวไปทุกเส้นทุกเอ็นทั่วทั้งตัว  ตั้งแต่ศีรษะตลอดลงไปถึงที่สุดจนเท้า........ ”
              จากข้อความดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า  คนที่เป็นโรคอุจจาระธาตุนอกจากจะมีอาการแปรปรวนทางด้านร่างกายแล้ว  ยังส่งผลให้เกิดการแปรปรวนทางด้านจิตใจและทางด้านระบบประสาทสมองด้วย

         
             5)   “ ให้นอนมิหลับจับเป็นพิษนั้น  โทษแห่งอัมพฤกษ์กระทำตลอดถึงสุมนากำเริบ  หย่อน  พิการ ก็ดี  มิได้เป็นปรกติ ”
                     เส้นอำมะพฤก  ( เส้นอัมพฤกษ์ )  เป็นเส้นซึ่งเป็นศูนย์กลางของร่างกายซึ่งอยู่ด้านหน้าท้อง  เมื่อพิการให้จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว  ให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง  ให้กระสับกระส่ายให้ร้อน  ให้เย็น  ให้เมื่อย  ให้เสียวไปทุกเส้นเอ็นทั้งตัว  ตั้งแต่ศีรษะตลอดลงไปถึงที่สุดจนเท้า

              6)   “ อุจจาระปัสสาวะมิสะดวกแลให้แคบอกคับใจ  โทษแห่งกุจฉิสยาวาตาแลโกฐาสยาวาตกำเริบขึ้นพัดในลำไส้  มิได้เปนปรกติ ”
                       ลมกุจฉิสยาวา     คือ  ลมพัดนอกไส้  นอกกระเพาะอาหาร  เมื่อพิการหรือแตกนั้นให้เจ็บท้องให้ท้องขึ้นท้องพอง  ให้ลั่นอยู่จ๊อก ๆ ให้เจ็บในอก  ให้สวิงสวาย  ให้เจ็บแดกขึ้นแดกลง
                        ลมโกฐาสยาวาต     คือ  ลมที่พัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร  เมื่อพิการหรือแตกนั้น  ให้เหม็นเข้า  ( ให้เหม็นข้าวหรือกินอาหารไม่ได้ )   ให้อาเจียน  ให้จุกอก  ให้เสียดแลแน่นหน้าอก



                 ลักษณะของลมทั้ง  2  เป็นลมที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารโดยตรงและทำงานควบคู่กันไปเสมอ  ดังนั้น  คนที่เป็นโรคอุจจาระธาตุมักจะมีผลมาจากระบบทางเดินอาหารแปรปรวนหรือพิการ  จึงทำให้การย่อยอาหารและการขับถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะเกิดติดขัดหรือพิการตามมา

                โทษของการกินผิดจึงทำให้เกิดโทษอุจจาระธาตุตามพระคัมภีร์ธาตุบรรจบนี้แสดงให้เห็นว่าแพทย์แต่โบราณให้ความสำคัญต่อการกินอาหาร  เพราะถ้ากินผิดก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา
   


พระคัมภีร์ชวดาร

               พระคัมภีร์ชวดารนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง  เนื้อหาของพระคัมภีร์เป็นการอธิบายถึงโรคลมและโรคเลือดตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย   มีคำกล่าวในเบื้องต้นว่า

               .......สิทธิการิยะ  อาจารย์กล่าวไว้ว่า  มนุษย์ทั้งหลายจะเกิดสรรพโรคต่าง ๆ  ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดาตราบเท่าจนอายุขัยอาศรัยโลหิตแลลม.....

               เลือด ( หรือโลหิต )  และลมในความเชื่อของการแพทย์แผนไทยมีความสำคัญมาก และถือว่าเกี่ยวเนื่องกัน  และเชื่อว่าชีวิตจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยเลือดและลมเป็นประการสำคัญ  ความหมายของเลือดลมจึงกว้างขวางและมีบทบาทในการวินิจฉัยโรคตามทฤษฎีของการแพทย์แผนไทย  ซึ่งมักจะกล่าวว่า  “ เลือดลมไม่ปรกติ ”   ก็ทำให้ร่างกายไม่ปรกติไปด้วย

               ในทางการแพทย์แผนไทย  “ ลม ”  หมายถึง  ธาตุอย่างหนึ่งในธาตุทั้ง  4   และ “ ลม ”   ยังใช้แทนคำว่าโรคได้    “ ลม ”   ยังหมายถึงทิศทางการเคลื่อนไหว  ระบบไหลเวียนของโลหิต  ระบบทางเดินอาหาร   ระบบประสาท   ส่วน  “ เลือด ”  ก็เช่นกัน   ใช้ในความหมายอื่น ๆ ด้วย คือ  ใช้เรียกอาการไม่ปรกติของร่างกาย   โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับเลือดหรือโลหิต


           
               ในพระคัมภีร์ชวดารกล่าวถึงลม  2  ประเภท  ที่เมื่อเกิดการแปรปรวน  จะมีผลทำให้การทำงาน
ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดผิดปรกติไป   และเตโชธาตุ  (ธาตุไฟ)   ก็ผิดปรกติไปด้วย   ลม  2  ประเภทนั้นก็คือ

                    -   ลมอุทธังคมาวาตา   คือ   ลมพัดขึ้นเบื้องบน

                    -   ลมอโธคมาวาตา     คือ   ลมพัดที่พัดลงเบื้องต่ำ

           
   
    ในตำราการแพทย์ไทยเดิมฉบับพัฒนาได้อธิบายลมทั้ง  2  ไว้ดังนี้

             1. อุทธังคมาวาตา   เป็นลมที่พัดขึ้นเบื้องบน อาจอธิบายจำแนกได้เป็น 2 นัย  ได้แก่

                 1.1   ลมกองหยาบ   เป็นลมที่พัดตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะ   ซึ่งทำให้เกิดอาการหาว เรอ  ไอ  จามหรืออาเจียน

                 1.2   ลมกองละเอียด   เป็นระบบประสาทรับรู้  ( Sensory  nervous  system )   นำความรู้สึก
จากทุกส่วนของร่างกายไปสู่สมอง  ทำให้รู้สัมผัสทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  และกาย  ตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะ

              2. อโธคมาวาตา   เป็นลมพัดที่พัดลงเบื้องต่ำ   อาจอธิบายจำแนกได้ไป  2  นัย  เช่นกัน

                  2.1   ลมกองหยาบ   เป็นลมที่พัดตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงปลายเท้า   ซึ่งทำให้เกิดการผายลม  ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

                  2.2   ลมกองละเอียด   เป็นระบบประสาทสั่งการ  ( Motor  nervous  system )   สั่งงานจากสมองไปยังระบบกล้ามเนื้อโครงร่าง  ซึ่งได้แก่  กล้ามเนื้อของใบหน้า  คอ  ลำตัวและแขน ขา  ทำให้มีการเคลื่อนไหวที่อยู่ในอำนาจจิตใจ
   
  
พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ลมทั้ง  2  เกิดแปรปรวนไว้ดังนี้

            “ จึงมีคำถามเข้ามาว่า    เหตุประการใดจึงลมทั้งสองระคนกันเข้าได้  ให้โทษแก่มนุษย์ทั้งปวง?    จึงกล่าวแก้ว่า  มนุษย์ทั้งหลายบริโภคอาหารมิได้เสมอ   บางจำพวกมากกว่าอิ่ม   บางจำพวกดิบ   เหน้า   บูด   หยาบน้อยยิ่งนัก   บางจำพวกล่วงผิดเวลา  อยากเนื้อผู้อื่นยิ่งนัก   8  จำพวกนี้  เป็นอาหารให้โทษใช่แต่เท่านั้น  บุคคลบางจำพวกต้องร้อนแลเย็นยิ่งนัก   เหตุดังนั้น  ลมอโธคมาวาตจึงพัดขึ้นไปหาลมอุทธังคมาวาต   บางทีลมอุทธังคมาวาตพัดลงมาหาลมอโธคมาวาต   จึงพัดโลหิตเป็นฟอง  อาการ  32  จึงเคลื่อนจากที่อยู่  ”

           จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า  การแพทย์แต่โบราณได้ทราบถึงการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเจ็บป่วยขึ้นได้   สรุปอาหารที่ให้โทษ  8 ประการ  มีดังนี้

              1.  กินอิ่มมากเกินไป   กล่าวคือ  กินอาหารที่ไม่บูด  ไม่เน่า  แต่กินในปริมาณที่มากเกินกว่าไฟธาตุจะย่อยได้  หรือเกินความสามารถในการย่อยของน้ำย่อยและกระเพาะอาหารและลำไส้  อาหารถ้าถูกย่อยด้วยน้ำย่อยไม่หมด  จะเกิดการหมักหมม  ถูกย่อยด้วยแบคทีเรีย  เน่าเสีย  เกิดลมในกระเพาะอาหารมาก  เกิดแก๊สพิษ  มักให้ร้อนท้องนัก  ทำให้ท้องเสีย  บางทีให้สะอึก  ขัดในหัวอก  ( หายใจขัด )   ทำให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอมอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้ได้


           
           2.  กินอาหารดิบ  คือ  ไม่กินอาหารที่ทำให้สุกก่อน  ในอาหารนั้นอาจมีพยาธิหรือสารพิษปนเปื้อน  ก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้  ตามลักษณะของพยาธิและสารพิษนั้น ๆ  นอกจากนี้อาหารดิบมักจะ
เป็นอาหารที่ย่อยยาก   อาจทำให้ย่อยไม่หมดเกิดการหมักหมมขึ้นภายในได้   ส่งผลทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารตามมา

              3.  กินอาหารเน่า   ลักษณะอาหารเน่า  เป็นอาหารหมดสภาพของการเป็นอาหารแล้วและมีกลิ่นเหม็นจัดว่าเป็นอาหารพิการ   เมื่อบริโภคเข้าไปก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นได้

              4.  กินอาหารบูด   ลักษณะอาหารบูดมักมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นเปรี้ยว   อาหารบูดจัดว่าเป็นอาหารพิการเมื่อบริโภคเข้าไปก็จะทำให้เกิดโรคภัยไขเจ็บขึ้นได้
           
             5.  อาหารหยาบ หรืออาหารไม่ละเอียด  อาจหมายถึง  การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดหรืออาหารที่ย่อยยาก  เมื่อกินเข้าไปทำให้เกิดปัญหาในการย่อยอาหารส่งผลให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้

               6.  กินอาหารน้อยเกินไป   คือ  กำลังไฟธาตุที่ทำการย่อยมีกำลังมากเกินไป  น้ำย่อยมากเกินไปทำให้เกิดกรดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้  อีกทั้งร่างกายอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ  ทำให้ร่างกายอ่อนแอได้

               7.  กินอาหารผิดเวลา  หรือกินอาหารไม่เป็นเวลา  สาเหตุนี้เป็นสาเหตุสำคัญเหมือนกันที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้

               8.  อยากเนื้อผู้อื่นยิ่งนัก   เป็นการบริโภคอาหารหรือเนื้อสัตว์เพื่อตอบสนองความอยากของตัวเท่านั้น  ไม่ใช่กินอาหารหรือเนื้อสัตว์ตามความพอเพียงหรือความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ  จึงทำให้บริโภคเกินความจำเป็น  จึงเกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา

      
   
 
พระคัมภีร์อติสาระวรรค
ของ   กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์

             พระ คัมภีร์อติสาร  เป็นกลุ่มอาการโรคในระบบทางเดินอาหารและลุกลามออกไปยังอวัยวะต่าง ๆ
เช่น  ตับ  ปอด  หัวใจ  ตลอดจนมีผลต่อระบบประสาท   อาการของโรคเป็นลักษณะเรื้อรังมานาน  จนยากต่อการรักษา ใกล้เคียงกับลักษณะโรคมะเร็งหรือโรคฝีภายใน  อาการที่แสดงออก มักจะถ่ายเป็นโลหิต มูกเลือด อุจจาระเน่าเหม็นและมีไข้แทรก

             ลักษณะอติสาร แบ่งได้  ๓  กลุ่ม  คือ

             ๑.  กลุ่มที่เกิดจากการกินอาหารผิดสำแดงและกินยาไม่ถูกกับโรค  เรื้อรังมา  แต่ยังอยู่ในระยะสันนิบาต (๒๙  วัน)   เรียกว่า   อชินธาตุอติสาร

             ๒.  กลุ่มติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร  สืบต่อจากอชินธาตุอติสาร  เรื้อรังเรื่อยมา  เรียกว่าอติสารโบราณกรรม

              ๓.  กลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร  น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบประสาทสั่งการ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ  ที่ต่างกัน  และมีการเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป  เรียกว่า   อติสารปัจจุบันกรรม

              ต่อไปนี้จะกล่าวลักษณ อติสารวรรค  ซึ่งเป็นประเภทผิดสำแดง  ๔  ประการนั้น ฯ

                         ๑.  เสมหะอชิณธาตุ  อติสาร ฯ
                       
                         ๒.  ปิตตะอชิณธาตุ  อติสาร ฯ

                         ๓.  วาตุอชิณธาตุ     อติสาร ฯ

                         ๔.  สัณนิปาตธาตุ    อติสาร ฯ


            อชิณอติสาร  เกิดด้วย  ๒  ประการ  คือ  กินอาหารผิดสำแดงประการหนึ่ง  เพื่อกินยาผิดกับโรค  ประการหนึ่ง  รวมเป็นสองประการดังจะกล่าวต่อไปนี้      
   
เสมหะอชิณธาตุอติสาร

               อันเป็นอติสารผิดสำแดง  เคารพ ๑  บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี  อันมิควรแก่ธาตุโรค   มักกระทำให้ลงในเวลาเช้า  มีอาการคอและอกแห้ง  ให้สีอุจจาระนั้นขาว   มีกลิ่นคาวระคนด้วยประเมหะเป็นเปลว   แล้วให้ปวดคูถทวารเป็นกำลัง    ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๑๒  ราตรีไป  ก็จะเข้ามุธุธาตุอติสาร  จัดเป็นปถมอติสารชวน   ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในเสมหะอชิณ      ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ

                - ท่านให้เอา  ตรีกฏุก  แห้วหมู  ผลมะตูมอ่อน  ผลตะบูน  ผลเบญกานี  การบูร  ยางตะเคียน  น้ำ
ประสารทอง สิ่งละส่วน  เขควายเผือกเผา  ๒ ส่วน  เจตมูลเพลิง  ๔  ส่วน  สะค้าน  ๘  ส่วน   รากช้าพลู  ๑๒  ส่วนทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้  ละลายน้ำมะแว้งแทรกพิมเสนกินหายแล

                 - โกฐศสอ   โกฐกระดูก  โกฐหัวบัว  เทียนดำ  จันทน์ทั้ง ๒  ว่านร่อนทอง  เนระพูสี  ครั่ง  ฝางเสนขมิ้นอ้อย  ขมิ้นชัน  สิ่งละส่วน  กานพลู ๔  ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้  ละลายน้ำเปลือกกระท้อน  แทรกพิมเสนกิน  แก้เสมหะอชิณอันบังเกิดแต่สำแดงธาตุกับสำแดงโรค  และแก้อติสารวรรค  ๑๑  ประการด้วย ฯ



ปิตตะอชิณธาตุอติสาร

               อันเป็นอติสารผิดสำแดงเป็นคำรพ  ๒  บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี  อันมิควรแก่ธาตุโรค  มักกระทำให้ลงในเวลากลางวัน  มีอาการให้ร้อนในอก และให้สวิงสวาย  หิวโหยหาแรงมิได้  ให้ตัวร้อนให้จับดุจไข้รากสาดสันนิบาต  สีอุจจาระนั้นแดง และให้ร้อนตามลำซ่วงทวาร  ขึ้นไปตลอดถึงทรวงอก   มีกลิ่นดังปลาเน่า  ให้ปากแห้งคอแห้ง  มักอาเจียน  บริโภคอาหารมิรู้รส  ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๗ ราตรีไป ก็จะเข้ารัตตะธาตุอติสาร จัดเป็นทุติยอสาระชวน   ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในปิตตะอชิณ  ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ

            - ผลจันทน์   ดอกจันทน์  คำฝอย   กำยาน  ผลพิลังกาสา  ผลสารพัดพิษ  เปลือกปะโลง  แก่นขนุน  ไพล  กระชาย  สิ่งละส่วน  เทียนดำ  ๒  ส่วน หมากดิบ  ๔  ส่วน  กระเทียมกรอบ  ๑๗  ส่วน  ทำเป็นจุล บดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำเปลือกสะเดาต้ม  แทรกพิมเสนกินแก้ปิตตะอชิณอันบังเกิดแต่ผิดสำแดงนั้นหายแล ฯ

             - เปลือกฝิ่นต้น  เปลือกทองหลางใบมน  เปลือกแคแดง  เปลือกขนุน ลมุด  ใบกะท่อม  ผลกระวาน  ผลเร่ว  การบูร  ผลคนทีสอ  ผลผักชีทั้ง ๒   หอมแดง  กระเทียม  สิ่งละส่วน  ว่านน้ำ ๒  ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง  ไว้ละลายน้ำรากยอ  แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ

             - เปลือกสันพร้านางแอ   เถามวกทั้ง ๒  ว่านมหาเมฆ  ผลกระดอม  น้ำประสานทอง  ดีปลี  สิ่งละส่วนเปลือกมะเดื่อชุมพร ๒ ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง  ไว้ละลายน้ำรากเทียนต้ม  แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ


    
วาตะอชิณธาตุอติสาร

               อันเป็นอติสารผิดสำแดง  เป็นคำรพ ๓  บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี  อันมิควรแก่ธาตุ  มักกระทำให้ลงเมื่อเวลาพลบค่ำ  มีอาการให้ท้องขึ้นและแน่นอกขัดใจให้คลื่นเหียน   ให้อาเจียนแต่ลม  เท้าเย็นมือเย็นบริโภคอาหารมิได้  คอแห้งผาก  สีอุจจาระนั้นคล้ำ   มีกลิ่นอันเปรี้ยวเหม็นยิ่งนัก  ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๑๐ ราตรีไปก็จะเข้าปัจฉัณธาตุอติสาร จัดเป็นตะติยะอสาระชวน   ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในวาตะอชิณ  ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ฯ

                - รากคันทรง  รากตานหม่อน  รากพุมเลียงทั้ง ๒  รากกระทุ่มขี้หมู  เปลือกไม้แดง  อบเชย  สักขี  ผลจันทน์  ตรีกฏุก  สิ่งละส่วน  ขมิ้นอ้อย  สีเสียดทั้ง ๒  สิ่งละ  ๒  ส่วน  กานพลู  ๔  ส่วน  กระเทียมกรอบ  ๖  ส่วนทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง  ไว้ละลายน้ำกระสายยา  อันควรแก่โรคให้กินแก้วาตะอชิณ อันบังเกิดแต่ผิดสำแดงนั้นหายแล ฯ

                - รากโพบาย  รากมะเดื่อดิน  ข่าต้น  กรุงเขมา  ระย่อม  พิษนาศน์  สิ่งละส่วน  เบญกานี  ตรีกฏุก  สิ่งละ  ๒  ส่วน  ไพล  ๓  ส่วน  จันทน์เทศ  ๔  ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง  ไว้ละลายน้ำเกสรบัวหลวงต้มแทรกพิมเสนกินหายแล ฯ

                - ผลยาง   ไส้หมากดิบ  ผลกระวาน  ใบกระวาน  จันทน์แดง  ผลผักชีทั้ง ๒  พรรผักกาด  รากมะกอกสิ่งละส่วน  ฝางเสน  เปลือกมะขามขบ  เปลือกผลทับทิมอ่อน  สิ่งละส่วนสองส่วน ตรีกฏุก  ๓  ส่วน  ใบจันทน์หอม๔  ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง  ไว้ละลายน้ำใบเทียนต้ม แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ



   
 
สัณนิปาตอชิณธาตุอติสาร

               อันเป็นอติสารผิดสำแดงเป็นคำรพ ๔  บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี อันมิควรแก่ธาตุโรค  มักกระทำให้ลงเมื่อเวลากลางคืน  มีอาการให้แน่นหน้าอก แลหายใจสอื้น  ให้จับสะบัดร้อนสท้านหนาว   ให้ตัวร้อนและเท้าเย็นให้ลงมิได้ สะดวก  สีอุจจาระนั้น  ดำ  แดง  ขาว เหลืองระคนกัน   มีกลิ่นอันโขงเหม็นยิ่งนัก  แล้วทำให้ขับปัสสาวะเดินมิสะดวก    ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๒๙ วันไป ก็จะเข้ามุตตายะธาตุอันระคนด้วยกาฬธาตุอติสาร จัดเป็นจัตตุทะอะติสาระชวร   อันเนื่องอยู่ในปัญจะมะชวร  ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในสัณนิปาตอชิณ   ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ

               - รากกล้วยตีบ  รากยอทั้งสอง  เปลือกโลด  รากชิงชี่  เปล้าทั้งสอง  โกฐทั้งห้า  เทียนทั้งห้า  จันทน์ทั้งสอง เบญจกูล  สิ่งละส่วน  เปลือกฝิ่นต้น  ๑๙  ส่วน    ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำเปลือกกระทุ่มขี้หมู  ต้มแทรกพิมเสนกิน  แก้สัณนิปาตอชิณ หายแล ฯ

               - โกฐทั้งห้า  เทียนทั้งห้า  ผลจันทน์  ดอกจันทน์  กระวาน  กานพลู  แฝกหอม  มะตูมอ่อน  ผลผักชีเปลือกโมกมัน  แก่นสน  ฝางเสน  กระเทียม  ลำพันแดง  พริกไทย  ผิวมะกรูด  เปลือกโลด  ผลมะแว้งทั้งสองเบญจกูล  สิ่งละส่วน  ผลจันทน์เทศ  ๑๖  ส่วน    ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้  ละลายน้ำเปลือกขี้อ้ายต้มแทรกพิมเสนกินหายแล ฯ

               - รากตูมกาทั้งสอง  ขมิ้นเครือ  กะทือ  ไพล  เบญจกูล  สิ่งละส่วน  ใบกรด  ๑๐  ส่วน  ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้  ละลายน้ำขมิ้นชันกินหายแล ฯ
   

คัมภีร์นวดแผนไทย

           ในคัมภีร์นวดฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๕ และตำราโรคนิทาน คำฉันท์ ๑๑  ของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) รวมทั้งตำรานวดฉบับอื่น ๆ ได้กล่าวถึงการกินอาหารแสลงที่ทำให้เกิดโรคลม ซึ่งเกิดตามแนวของเส้นประธานสิบ  พอกล่าวได้ดังนี้
   
 
 




เอกสารอ้างอิง  ตำราการนวดไทย เล่ม 1 ปรับปรุงแก้ไข ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3  มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
   
        ในเรื่องอาหารที่ให้โทษตามพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่กล่าวมาแต่ต้นนั้น  ยังมีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ตักศิลา  ในกรณีของคนเป็นไข้พิษไข้กาฬและจะแสลงแก่ไข้  เช่น  ห้ามอาหารและยารสร้อน  รสเผ็ด  รสเปรี้ยว  ห้ามกินเหล้า  ห้ามกินและอาบน้ำร้อน  ห้ามกินส้ม  ห้ามกินกะทิ  น้ำมัน  การห้ามนี้เป็นการห้ามอย่างจริงจังด้วย  พระคัมภีร์กล่าวไว้อาจถึงความตายได้  ถ้าไม่รู้ทำผิดดังกล่าว

         จากเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงแพทย์แผนไทยแต่โบราณให้ความสำคัญในเรื่องการกินอาหารไว้มาก  และรู้ว่าเหตุที่สำคัญที่ทำให้ร่างกายสมดุลหรือเสียสมดุลที่สำคัญ คือ  อาหาร   สุดท้ายขอให้หลักในการพิจารณาการกินอาหารไว้ ดังนี้

          1. กินอาหารให้หลากหลาย แต่ให้พิจารณาถึงความพอดีในการกิน  ไม่มากไปหรือน้อยไป
       
        2. รสของอาหาร  กินให้หลากหลายครบทุกรส  โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคำนวณตัวเลขคุณค่าทางโภชนาการ

          3.  อาหารต้องสดใหม่  สะอาดเสมอ  ไม่กินของเน่าบูดหรืออาหารเหลือค้างคืน  ถึงแม้อาหารยังดูดีอยู่  ก็ไม่ควรนำมาบริโภค  ควรฝึกปรุงอาหารรับประทานให้พอดีในแต่ละมื้อหรือแต่ละวัน



          4.  หลีกเลี่ยงอาหารทอด  อาหารผัด  ควรกินอาหารประเภทต้มตุ๋น  แกง ยำ ต้มยำ ปิ้งย่างแต่อย่าให้ไหม้เกรียม

           5.  กินอาหารให้ตรงเวลา  มื้อเช้าไม่ควรเกิน  08.30 น.  มื้อเที่ยงไม่ควรเกิน 13.00 น.   มื้อเย็นไม่ควรเกิน18.00 น.
         
            6.  หลีกเลี่ยงอาหารอุตสาหกรรมทุกชนิด   เช่น  อาหารใส่ถุงสำเร็จรูป   อาหารกระป๋อง   อาหารประเภทฟาสท์ฟูดส์ทุกชนิด   อาหารที่ควรรับประทานควรเป็นอาหารที่มาจากการปรุง  ไม่ใช่จากการผลิต

            7.  กินอาหารให้สอดคล้องกับสภาวะสภาพของตนเอง  โดยพิจารณาจากอายุ  อาชีพการงาน ธาตุกำเนิดการเจ็บป่วยของตัวเองในปัจจุบัน  เช่น  คนที่เป็นไข้พิษไข้กาฬหรือไข้ที่ตัวร้อนสูง  ก็ไม่สมควรกินอาหารรสเผ็ดร้อนหรือหากสงสัยให้สอบถามแพทย์แผนไทยได้ทุกคนและที่สำคัญ  อย่าเน้นการกินอาหารเพื่อตอบสนองความอยากของตนเอง



            8.  กินอาหารที่เพาะปลูกหรือมีอยู่ในท้องถิ่น  ภูมิภาคของตนเอง

            9.  ควรกินอาหารที่ย่อยง่ายหรือให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดหรือเคี้ยวให้มาก ๆ หน่อยแล้วค่อยกลืน

            10. กินอาหารให้พออิ่ม  อย่ากินจนเกินอิ่ม

            11. ข้อนี้สำคัญมากพอ ๆ กับการกิน  คือ  ต้องหมั่นดูแลเรื่องการขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ คือขับถ่ายให้ได้อย่างน้อยวันละ  1  ครั้ง  ในตอนเช้า   อย่าปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรัง  ท้องเสียเรื้อรัง  หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังถ้ามีปัญหาเรื่องการขับถ่ายควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที


   
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
1.  สถาบันภาษาไทย  กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  “ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  :  ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ ” พ.ศ.2542    พิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา  ลาดพร้าว.
2.  มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม  “ ตำราการแพทย์ไทยเดิม  ( แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ )  ฉบับอนุรักษ์ ”  พิมพ์ครั้งแรก  2535  โรงพิมพ์สามเจริญพาณิช  กรุงเทพฯ.
3.  มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม  “ ตำราการแพทย์ไทยเดิม  ( แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ )  ฉบับพัฒนา ”  พิมพ์ครั้งที่สอง  2541  โรงพิมพ์สีไทย  กรุงเทพฯ.
4.  มัธยัสถ์   ดาโรจน์      “ เวช – เภสัชกรรมแผนโบราณ ”   พิมพ์ครั้งที่ 3   2526   พิมพ์ที่เทพรัตน์การพิมพ์  กรุงเทพฯ.
5.  วุฒิ   วุฒิธรรมเวช    เอกสารคำบรรยาย  วิชาการแพทย์แผนไทย
6.  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   “ เอกสารชุดวิชานวดแผนไทย ”  สำนักพิมพ์สุโขทัยธรรมาธิราช  ครั้งที่  1  2549
7.  ตำราการนวดไทย เล่ม 1 ปรับปรุงแก้ไข ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3  มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น